ของกำนัลคือคำพยากรณ์

เมษายน 8, 2013

โดย มาเรีย ฟอนเทน

การที่สามารถรับฟังจากพระองค์ผ่านคำพยากรณ์ และการให้พระองค์เป็นส่วนสำคัญในชีวิตเรา นำมาซึ่งผลที่แสนวิเศษมากมาย โดยเฉพาะความแนบชิดกับพระองค์ และความใกล้ชิดกับพระวิญญาณของพระเจ้า พระองค์มอบถ้อยคำที่เสริมสร้างศรัทธาและมอบแรงกระตุ้นให้เรามากมาย ผ่านคำพยากรณ์ ซึ่งช่วยให้เราใกล้ชิดพระองค์มากยิ่งขึ้น

ความเชื่อหลักอย่างหนึ่งที่เป็นพื้นฐานของครอบครัวก็คือ ความเชื่อที่ว่าพระเจ้ายังคงบอกกล่าวในปัจจุบัน และถ่ายทอดข่าวสารไปสู่ผู้คนของพระองค์ ผ่านคำพยากรณ์ นิมิตหมาย และถ้อยคำที่ได้รับแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นแนวทางและคำปรึกษา ความสัมพันธ์ที่เรามีกับคำพยากรณ์เริ่มต้นในสมัยแรกๆ ของครอบครัว เมื่อเดวิดสนับสนุนให้สมาชิกลูกของพระเจ้ารุ่นแรกใช้เวลาเพื่อหยุดและรับฟังจากพระเจ้า

การอธิษฐานไม่ใช่เพียงการคุกเข่าและพูดเรื่องของคุณเท่านั้น  แต่เป็นการให้พระเจ้าพูดเรื่องของพระองค์ด้วย และรอเงียบๆ ด้วยความมั่นใจ จนกว่าพระองค์จะตอบ คุณต้องไม่เพียงแค่อธิษฐานเท่านั้น  แต่คุณต้องฝักใฝ่ใจอยู่ในวิญญาณด้วย ถ้าคุณทำเช่นนั้น พระองค์ก็จะบอกคุณแต่ละคนว่าควรจะทำอะไรบ้าง[1]

ทุกวันควรจะเป็นวันใหม่ ประสบการณ์ใหม่ และการรับฟังเสียจากพระองค์ใหม่อีกครั้ง ทำไมถึงประทังชีวิตจากอาหารที่ทานเมื่อวานนี้ ทำไมไม่รับสิ่งสดๆ ใหม่ๆ ทุกวัน คุณรับฟังจากพระเจ้าได้ทุกวัน คุณควรจะรับฟังจากพระองค์ทุกวัน ไม่ต้องเป็นเสียงที่ดังฟังชัดก็ได้ อาจเป็นเสียงค่อยๆ ที่คุณรู้สึกในใจ บางครั้งไม่ต้องเป็นถ้อยคำด้วยซ้ำ อาจเป็นความประทับใจก็ได้ พระเจ้าไม่ต้องสื่อสารเป็นถ้อยคำหรอก พระองค์อาจมอบความรู้สึก หรือภาพ หรือแนวคิดให้แก่คุณก็ได้[2]

คุณไม่อาจพึ่งพาสติปัญญาและความเข้าใจของคุณเอง คุณต้องหมายถึงการชี้แนะและแนวทางที่มหัศจรรย์และเหนือธรรมชาติจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นไปไม่ได้ที่จะหาทางแก้ไขปัญหาเอง “อย่าพึ่งพาความเข้าใจของตนเอง แต่ให้พระองค์มีส่วนรับรู้ในทุกลู่ทาง และพระองค์จะนำทางเจ้า”[3]

ดังนั้นขอให้ระลึกว่าคุณไม่อาจแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยสติปัญญา พละกำลัง ความนึกคิด ความเข้าใจ และการที่คุณเองพยายามคิดหาคำตอบ คุณต้องขอพลังที่มหัศจรรย์และเหนือธรรมชาติจากพระวิญญาณ เพื่อให้มอบนิมิตหมายชัดเจนแจ่มแจ้งตรงจากผู้อยู่เบื้องบน โดยแสดงให้คุณเห็นว่าควรจะทำอะไรกันแน่[4]

การติดตามพระเจ้าเป็นเครื่องหมายสำคัญในหมู่คณะของเรา โดยยึดหลักจากความเชื่อที่ว่า ถ้าเราแสวงหาพระองค์ด้วยศรัทธาอย่างเต็มที่ เราจะพบพระองค์[5] นอกจากนี้เรายังมีความเชื่อมั่นในข้อพระคัมภีร์ที่ว่าพระเจ้าจะ “ทุ่มเทพระวิญญาณมาสู่คนทั้งปวง” ในวาระสุดท้าย และผู้รับใช้ของพระองค์ทั้งชายหญิงจะกล่าวคำพยากรณ์[6] การได้รับข่าวสารร่วมสมัยจากพระเจ้าสำหรับงานมอบหมายและงานรับใช้พระองค์โดยเฉพาะ เป็นหลักสำคัญในความศรัทธาของเรา

การที่คำสัญญาของพระเจ้าจะบรรลุผลนั้นค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แม้กระทั่งเป็นเรื่องเร้นลับ เราไม่อาจรู้แน่เสมอไปว่าจะบรรลุผลในแง่ที่เราคาดหมายหรือตีความไหม หรือว่าอาจจะบรรลุผลอย่างไรหรือเมื่อใดในอนาคต

เมื่อยอห์นได้รับนิมิตเรื่องกาลอวสาน 2,000 ปีก่อน มีเครื่องบ่งบอกว่าคำสัญญาดังกล่าวจะบรรลุผลในประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้มากทีเดียว ข้อเท็จจริงที่ว่าคำสัญญานั้นยังไม่บรรลุผล หมายความว่าคริสเตียนต้องปรับการตีความหมายข้อพระคัมภีร์ดังกล่าว โดยไว้วางใจว่าพระเจ้าจะบรรลุผลตามคำสัญญา ในเวลาและหนทางที่พระองค์เห็นว่าเหมาะสม

บ่อยครั้งคริสเตียนเอ่ยอ้างคำสัญญาที่ได้รับ เช่น คำสัญญาต่อชนชาติอิสราเอลโดยเฉพาะ เรามีศรัทธาที่จะเอ่ยอ้างข้อพระคำดังกล่าว เพราะเราถือว่านั่นเป็นพระคำของพระเจ้า ซึ่งหยิบยกขึ้นมาอ้างได้ในสถานการณ์ต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมอบไว้สำหรับสถานการณ์เฉพาะ หรือว่ายังไม่บรรลุผลตามนั้น เราทราบว่าหลักการเรื่องพลังที่มหัศจรรย์ของพระเจ้า ตามที่เผยไว้ในคำสัญญาของพระองค์ และผลที่เกิดขึ้นตามคำสัญญานั้น เป็นหลักการที่เราเอ่ยอ้างได้ในคำอธิษฐาน เราจะได้รับผลประโยชน์เสมอ จากหลักการทางวิญญาณที่เป็นรากฐานคำสัญญาซึ่งมอบไว้สำหรับช่วงเวลาหรือสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง

เราไม่อาจหยั่งรู้ขอบเขตทั้งหมดในแผนการและความประสงค์ของพระเจ้า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคำสัญญาของพระองค์ นี่เองเปาโลจึงกล่าวไว้ว่า “ใครเล่าล่วงรู้พระทัยขององค์พระผู้เป็นเจ้า ... คำตัดสินของพระองค์นั้นเหลือที่จะหยั่งรู้ได้ และทางของพระองค์ก็เหลือที่จะสืบเสาะได้”[7] พระองค์ผู้เดียวที่ทราบว่าคำสัญญาของพระองค์จะบรรลุหรือไม่ อย่างไร หรือเมื่อใด เรากล่าวไม่ได้เช่นกันว่าคำสัญญาจะไม่บรรลุผลในอนาคต คำสัญญาอาจบรรลุผลในแง่ที่แตกต่างไปจากที่เราคาดหมาย หรือการที่เราอาจตีความหมายคำพยากรณ์ และคาดไว้ว่าจะบรรลุผลอย่างไร

พระองค์ดำเนินงานภายในขอบเขตความเข้าใจของเรา เช่นเดียวกับที่ผู้ปกครองปฏิบัติต่อเด็ก ด้วยการช่วยให้เขาพัฒนาและดำเนินงานภายในขอบเขตความสามารถของเขา เราทราบเพียงบางส่วน เรากล่าวคำพยากรณ์ได้เพียงบางส่วน[8]

โดยทั่วไปแล้วพระเจ้าจะกล่าวกับเราภายในแวดวงความศรัทธาของเรา อย่างไรก็ตาม ถ้าพระองค์ต้องการมอบบางสิ่งให้เรา ซึ่งนอกเหนือไปจากความเข้าใจของเรา เราก็ไว้วางใจได้ว่าเมื่อเราร้องเรียกพระองค์อย่างสุดจิตสุดใจ เพื่อขอแผนการของพระองค์ พระองค์ก็จะมอบให้แน่นอน ถึงแม้ว่าพระองค์ต้องเผยนิมิตหมายที่นอกกรอบความเข้าใจและศรัทธาของเราอย่างสิ้นเชิง ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าพระองค์ตัดสินใจไม่นำเราไปในแนวทางใหม่ จนถึงเวลาที่พระองค์เห็นว่าเหมาะสม ด้วยเหตุผลที่พระองค์ผู้เดียวล่วงรู้ เราก็ต้องเข้าใจด้วยว่าพระองค์มีสิทธิพิเศษที่จะทำเช่นนั้นได้

ในบั้นปลายนี่คือตอนที่องค์ประกอบของพระเจ้าเข้ามามีบทบาท โดยที่ทราบและเชื่อว่าพระองค์ยิ่งใหญ่กว่าขอบเขตจำกัดและความเข้าใจตามประสามนุษย์ของเรา พระองค์นำทางเราด้วยการตอบคำอธิษฐานที่เราร้องขออย่างสุดจิตสุดใจ แม้ว่านั่นอาจหมายถึงการขยายขอบเขตจำกัดที่เราเคยมีศรัทธามาก่อนหน้านี้

จัดพิมพ์ครั้งแรก เดือนสิงหาคม ค.ศ.2010 ข้อความที่หยิบยกมาจัดพิมพ์ใหม่ เดือนเมษายน ค.ศ.2013 


[1] จากเรื่อง “หยุด ... ดู ... ฟัง” โดย เดวิด เบิร์ก Vol. 1 พฤษภาคม ค.ศ.1971

[2] จากเรื่อง “รับฟังจากพระเจ้า” กุมภาพันธ์ ค.ศ.1978

[3] สุภาษิต 3:5-6

[4] จากเรื่อง “เพื่อเห็นแก่พระเจ้า ติดตามพระองค์” ตุลาคม ค.ศ.1970

[5] เยเรมีย์ 29:13

[6] กิจการ 2:17–18

[7] โรม 11:34, 33

[8] 1 โครินธ์ 13:9

Copyright © 2024 The Family International